:
องค์การบริหารส่วนตำบลสบแม่ข่า ยินดีให้บริการ โทรศัพท์ : 053-368405 แฟกซ์ : 053-368006

ชื่อ: ลำไยกะโหลกต้นแรกของประเทศไทย

24 ก.พ. 2565

รายละเอียด:

 

ตั้งอยู่ที่กาดสวนเจ้า หมู่ที่ 3

          ...ในอดีตนั้นพบว่ามีลำไยขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ มีลักษณะทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ผลเล็กและมีเนื้อน้อย  เรียกว่าลำไยพื้นเมืองหรือลำไยกะลา ส่วนลำไยพันธุ์ดีหรือลำไยกะโหลกนั้นได้มีการนำเข้ามาในปี 2439 โดยชาวจีนนำพันธุ์ลำไยมาถวายพระชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 5 ต้น ซึ่งต่อมาได้มอบให้เจ้าน้อยคำตั๋น ณ เชียงใหม่ นำไปปลูกบริเวณบ้านสบแม่ข่า หรือบ้านน้ำโท้ง ตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ติดบริเวณแม่น้ำปิงจำนวน 3 ต้น และได้ปลูกไว้ที่กรุงเทพมหานคร 2 ต้น ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นลำไยที่ปลูกบริเวณตรอกจันทร์ สำหรับลำไยที่ปลูกบริเวณบ้านน้ำโท้งนั้น จากการสังเกตพบว่าน่าจะเป็นต้นพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ด เพราะดูจากลักษณะของต้นและการเจริญเติบโตของต้นที่สูงใหญ่ และคาดว่าในสมัยนั้นยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง และพันธุ์ที่นำมาครั้งนั้น คือ พันธุ์เบี้ยวเขียว
 
          จากนั้นได้มีการแพร่ขยายการปลูกลำไยไปสู่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ – ลำพูน เป็นอย่างมาก  คาดว่าบริเวณที่มีการปลูกลำไยกันอย่างหนาแน่น ได้แก่ บริเวณที่ติดกับแม่น้ำปิง  แม่น้ำกวง แม่น้ำทา และแม่น้ำลี้ เป็นต้น เพราะมีความเชื่อว่าลำไยจะเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีดินลักษณะน้ำไหลทรายมูล ซึ่งเป็นดินที่มีการทับถมจากตะกอนก้นแม่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถระบายน้ำได้ดี  เช่นที่บ้านหนองช้างคืน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำปิง ลำไยต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตคิดเป็นรายได้ต่อต้น ราว 10,000 บาท ในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึง “ลำไยต้นหมื่น” และเป็นแหล่งขยายพันธุ์ที่สำคัญ  แสดงว่าเดิมแล้วลำไยปลูกกันมากในที่ลุ่มริมแม่น้ำ สามารถให้น้ำลำไยได้อย่างสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันได้มีการนำลำไยปลูกบริเวณที่ดอน (Up Land) เชิงเขามากขึ้น ต้องมีการจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ลำไยให้เพียงพอ พื้นที่ปลูกลำไยในจังหวัดเชียงใหม่มีเกือบทุกอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง  สารภี หางดง สันป่าตอง จอมทอง ฮอด ดอยหล่อ สันทราย ฯลฯ ส่วนจังหวัดลำพูน ได้แก่ อำเภอเมือง ป่าซาง เวียงหนองล่อง บ้านโฮ่ง ลี้ แม่ทา และทุ่งหัวช้างเป็นต้น

          ปัจจุบันต้นลำไยต้นแรกของประเทศไทยที่เหลืออยู่  ในตำบลสบแม่ข่า อยู่ในพื้นที่ครอบครองของ นายคำมูล พิลาสลักษณ์ เจ้าของตลาดน้ำโท้งและกาดสวนเจ้า ซึ่งห่างจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสบแม่ข่า 1 กิโลเมตร ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางมาชมได้ตลอดเวลา แต่ทาง อบต.สบแม่ข่า ไม่สามารถปรับปรุงสถานที่ได้ เนื่องจากว่า ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งนี้หากท่านต้องการข้อมูลการเดินทาง สามารถดูได้จากแผนที่ตำบลสบแม่ข่า

รูปภาพ/ไฟล์เอกสาร